รอบรู้เรื่องปลา Arowana กับ นายปิติ๙๙
ว่าด้วยเรื่องตู้ที่ใช้ในการเลี้ยงปลา Arowana
ฉบับนี้...มาคุยกันในเรื่องเกี่ยวกับ”ตู้”ที่ใช้เลี้ยงปลา Arowana กันนะครับ ซึ่งก็มีหลายแง่มุมให้พิจารณา ดังที่จะแจกแจงให้ผู้เลี้ยงได้ทราบตามลำดับ
เริ่มต้นเดิมที..ผู้เลี้ยงมักจะเลี้ยงปลา Arowana ในตู้ขนาด 60*20*20 และระบบกรองที่ใช้กัน..ก็คือกรองข้าง หรือไม่ก็เป็นตู้ขนาด 48*20*20 หรือเพียงแค่ 36 นิ้วด้วยซ้ำไป
เหตุผลก็คือ...ผู้เลี้ยงหลาย ๆ ท่านในขณะนั้นไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน ทราบแต่ว่า..ปลา Arowana นั้น สามารถโตได้เป็นฟุต และเข้าใจว่า..ตู้ที่ซื้อหามาใช้เลี้ยงกันนั้น มีขนาดเพียงพอ
เพราะถ้าเป็นตู้ที่ใหญ่กว่านี้ ราคาก็จะกระโดดขึ้นไป เรียกว่า..แพงขึ้นไปหลายเท่าตัวกันเลยทีเดียว
เช่น ตู้ขนาด 60*20*20 กระจก 2 หุน(6มิล) มีราคาที่ 1500 บาท ในขณะที่ตู้ 60*24*24 กระจก 3 หุน(10มิล) มีราคา 6200 บาท
ราคาตู้ที่กระโดดขึ้นไปขนาดนั้นก็เพราะ..ราคากระจก(ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการประกอบตู้ปลา)ที่มีความหนาเกิน 2 หุนขึ้นไปนั้น..มีราคากระโดดจากราคากระจก 2 หุนเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ตู้ 60*20*20 กระจก 2 หุนนั้น เป็นตู้ที่มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในตู้ แต่ก็ไม่เหมาะที่จะใช้เลี้ยงปลา Arowana อันเป็นที่รักของเราตลอดชีวิต เพราะเป็นตู้ที่กระจกขนาด 2 หุนต้องรับภาระโหลดจากน้ำอย่างมากสุด ๆ (กระจกมีความเครียดสูงมาก)
เมื่อลองเติมน้ำเต็มตู้ ก็จะเห็นว่า..กระจกในส่วนที่เป็นแผ่นยาวนั้น..มีอาการป่องกลางขึ้นมาเล็กน้อย
ตู้ขนาดนี้...เหมาะใช้เลี้ยงปลาเล็กเสียมากกว่า พวกปลาใหญ่ที่มีแรงชนมหาศาลนั้น..ไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง
รวมทั้ง...ยังมีขนาดเล็กเกินไปที่จะใช้เลี้ยงปลา Arowana ตัวใดตัวหนึ่งตลอดชีวิต
(บ้านไหนมีเด็กเล็กวิ่งเล่นซุกซนอยู่ในบ้าน ก็ไม่แนะนำให้นำตู้ 60*20*20 กระจก 2 หุนไปตั้งไว้ในบ้าน เกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ไม่คุ้มเสียหรอกครับ เรืองจริงเกี่ยวกับตู้ใบนี้ที่ถือเป็นตัวอย่างอันคลาสสิกที่สุด ก็ไม่พ้นเรื่องที่เด็กน้อยคนหนึ่ง เอาเหรียญบาทไปเคาะตู้ขนาดนี้ในร้านขายปลาแห่งหนึ่ง ทำเอาตู้แตก เด็กได้รับบาดเจ็บ เย็บไปหลายสิบเข็ม เจ้าของร้านก็ต้องรับผิดชอบค่าพยาบาลทั้งหมดไปในที่สุด)
ตู้ที่พอจะเลี้ยงปลา Arowana ตัวหนึ่งตลอดชีวิต คือ 60*24*24 โดยต้องใช้ระบบกรองที่ไม่กินพื้นที่ในตู้ปลา เช่น กรองนอกสำเร็จรูป เป็นต้น (ฉบับต่อไป จะถูกถึงเรื่องระบบกรองต่าง ๆ โดยละเอียด)
กระจกที่ใช้ ก็ขอเป็น 3 หุนขึ้นไป แต่ถ้าบ้านไหนมีเด็กเล็ก ก็ใช้กระจก 4 หุนไปเลยก็ได้ เพราะราคาไม่โดดกว่ากันสักเท่าไหร่
ขอย้ำว่า..ตู้ 60*24*24 นั้น...ก็แค่”พอจะสามารถใช้เลี้ยงได้ตลอดไป” แต่ถามว่า...ใช้ตู้ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปลา Arowana หรือไม่
ตอบว่า..”ไม่ใช่” ครับ
ปลา Arowana สามารถโตได้ 24 นิ้วสบาย ๆ ในตู้ ถ้าได้รับการเลี้ยงดูจากผู้เลี้ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งก็ใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีก็สามารถโตได้ขนาดนี้แล้ว
ลองนึกภาพ..ปลาขนาด 24 นิ้วว่ายในตู้ 60*24*24 ก็จะเริ่มเห็นความอึดอัดเกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้น..ถ้าผู้เลี้ยงมีงบประมาณและมีสถานที่ตั้งที่ใหญ่พอ...ตู้ขนาด 72*30*30 จะเป็นตู้ที่เหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงปลา Arowana ตัวหนึ่งได้ตลอดชีวิต
สำหรับตู้ที่ใช้เลี้ยงปลา Arowana นั้น ผู้เลี้ยงควรให้ความสำคัญกับความกว้างของตู้มากกว่าความลึกของตู้ ผู้เลี้ยงหลายท่านชอบตู้ที่ดูอลังการ ทำให้สั่งตู้ที่มีความลึกมากกว่าความกว้าง เช่นตู้ 72*24*30 เป็นต้น
ซึ่งจริงอยู่..ตู้ลึกแม้จะดูอลังการ แต่ในระยะยาว เมื่อเวลาผ่านไปสัก 4 ปี ปลาตัวนั้นก็จะนิ่ง ๆ อยู่ที่ประมาณ 22-24 นิ้ว ไม่โตไปกว่านี้สักเท่าไหร่
ผิดกับตู้ 72*30*24 ซึ่งปลา Arowana ที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมทั้งในเรื่องการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ดูแลระบบกรอง และการให้อาหาร ขนาดของปลาก็จะได้ขนาดที่ใหญ่กว่า(ในระยะเวลาเดียวกัน) และความสมบูรณ์ของปลาจะดีกว่ามาก
อย่าลืมว่า..เวลาที่ปลาเอาหนวดไปถูตู้ปล่อย ๆ ก็จะมีอาการหนวดปลาหมึก และถ้าเอาหางไปโดนผนังตู้บ่อย ๆ ก็จะทำให้หางขึ้นผดได้ ดังนั้น..ตู้ที่มีความกว้างพอดีกับขนาดของปลา ก็มักจะมีอาการลักษณะนี้รวมด้วยเสมอ
ด้วยความที่ปลา Arowana เป็นปลาที่ว่ายระดับผิวน้ำ ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับความกว้างของตู้มากกว่าความลึกของตู้ เพราะนั่นหมายถึง..ความสมบูรณ์และขนาดของตัวปลาดังที่กล่าวในข้างต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป นั้นคือปลามีขนาดใหญ่มาก ๆ (24 นิ้วขึ้นไป) ตู้ที่มีความลึกแค่ 24 นิ้วก็ทำให้ความสง่างามของปลา Arowana ลดน้อยกว่าตู้ความลึก 30 นิ้ว
สรุปคือ...ตัวเลือกที่ดีที่สุดก็คือ..กว้าง 30 นิ้วและลึก 30 นิ้ว และตู้ที่กว้าง 30 นิ้วแต่ลึกแค่ 24 นิ้วนั้นเหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงปลา Arowana มากกว่าตู้ที่กว้าง 24 นิ้วแต่มีความลึก 30 นิ้ว
ปัจจุบัน....เริ่มมีผู้เลี้ยงหลายท่าน หวังจะขุนปลาให้ได้ขนาดซุปเปอร์จัมโบ้ ทำให้ตู้ขนาด 72*36*30 ถูกเลือกใช้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
หมายเหตุ: ในการเรียกขนาดตู้ปลา เราจะใช้หน่วยเป็นนิ้วทุกครั้งไป และขนาดของตู้ก็จะเป็น...ความยาว*ความกว้าง*ความลึก
จุดหนึ่งที่ห้ามพลาดเลยเกี่ยวกับตู้ก็คือ...”ระดับน้ำในตู้”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตู้ที่ใช้ระบบกรองข้างหรือกรองล่าง เพราะระดับน้ำในตู้นั้นจะถูกกำหนดโดยหวีน้ำล้น ดังนั้นถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นมา ผู้เลี้ยงไม่สามารถแก้ไขเองได้ ต้องให้ร้านตู้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขให้เรา
โดยปกติแล้ว..ตู้ที่ใช้เลี้ยงปลาทั่วไปนั้น ระดับผิวน้ำจะอยู่ใกล้คานบน เรียกว่า..แทบจะเฉียดคานบนกันเลยทีเดียว
ในขณะที่ตู้ที่ใช้เลี้ยงปลา Arowana นั้น ควรมีระยะห่างระหว่างผิวน้ำกับคานบน 4-6 นิ้ว เหตุผลที่เว้นระยะขนาดนี้ ไม่ใช่เพราะป้องกันปลากระโดดหรอกนะครับ ปลา Arowana ถ้าตั้งใจกระโดด แม้จะเป็นปลา 6 นิ้วก็สามารถกระโดดได้เกิน 6 นิ้วครับ
แต่เหตุผลที่ต้องมีระยะห่างมากกว่าปกติ ก็เพราะป้องกันมิให้ปากของปลาไปเฉี่ยวกับคานขณะว่ายเข้ามากินเหยื่อ ปลาขนาด 20 นิ้ว ถ้าเห็นเหยื่อและว่ายพุ่งเข้ามากินอย่างรุนแรง ปากของปลาจะพ้นน้ำขึ้นมาประมาณ 1.5 – 2 นิ้ว ถ้าผู้เลี้ยงไม่เผื่อตรงนี้ไว้..โอกาสที่ปลาจะปากแหว่งหรือหนวดขาดก็จะเป็นไปได้มาก
ย้ำว่า...เรื่องระดับน้ำในตู้...ห้ามพลาดเด็ดขาดในช่วงการสั่งตู้
สิ่งหนึ่งที่สัมพันธ์กับระดับน้ำในตู้ก็คือ...คิ้วอะครีลิคด้านบน นั่นคือตัวคิ้วต้องมีขนาดใหญ่กว่าตู้ปลาทั่วไป เพราะขอบล่างของคิ้วต้องสามารถปิดระดับผิวน้ำในตู้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้แสงจากหลอดไฟในตู้ ส่องแยงตาออกมานอกตู้
การเจียรขอบกระจกต่าง ๆ ก็มีความสำคัญ เพราะช่วยลดอาการบาดเจ็บของปลา Arowana ไปได้ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...เรื่องหนวดขาดเพราะคมของกระจก
ในตู้ปลาทั่วไป ร้านค้ามักจะเจียรขอบกระจกอย่างลวก ๆ ทำให้ยังมีความคมของกระจกอยู่ แต่ถ้าเป็นตู้ที่ใช้กับปลา Arowana เรื่องนี้..ไม่ได้เลยครับ ต้องเจียรให้มนที่สุด
รวมทั้งการเคลื่อนย้ายปลา Arowana ก็ต้องใช้วิธีต้อนเข้าถุง ถ้าตู้ที่คานบนยังมีความคมหลงเหลืออยู่ โอกาสที่จะทำให้ถุงรั่วก็เป็นไปได้สูง
และไม่ใช่แค่เจียรขอบกระจกอย่างเดียว ขอบคิ้วอะครีลิคก็ต้องลบคมด้วยเช่นกัน (ทั้งคิ้วบนและล่าง)
ประเด็นต่อมา..ก็คือเรื่องสีสันของตู้ กระจกที่ใช้ทำตู้ปลากันก็คือ..กระจกใส กับ กระจกชาดำ โดยที่กระจกชาดำนั้นจะมีราคาแพงกว่า
อย่างนั้นก็ตาม แนะนำให้ใช้เป็นกระจกใส และใช้สติ๊กเกอร์เป็นอุปกรณ์เปลี่ยนสภาพแวดล้อมของตู้ปลา
ตู้ที่ใช้เลี้ยงปลา Arowana นั้น...ผมแนะนำเลยว่า...ให้ติดสติ๊กเกอร์ดำที่ก้นตู้ทุกใบ ตรงนี้เราสามารถสั่งทางร้านได้เลย อย่าปล่อยให้ก้นตู้เป็นกระจกใสบนพื้นโฟม เพราะจะสะท้อนแสงเป็นลักษณะกระจก ซึ่งปลา Arowana บางตัวจะเครียดถ้าถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมลักษณะนั้น
รวมทั้งสีสันของปลา Arowana นั้น ณ ระดับหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับสีสันความเข้มของสภาพแวดล้อม ซึ่งก็คือ “ตู้” ที่ใช้เลี้ยงนั้นเอง
และสีสันของ”ก้นตู้” ก็จะส่งผลมากที่สุด เมื่อเทียบกับสีสันของผนังตู้
ในส่วนสีสันของผนังตู้ปลา โดยทั่วไปแล้วเราก็นิยมที่จะติดสติ๊กเกอร์ดำที่ฉากหลังด้วยเช่นกัน ส่วนผนังซ้ายขวานั้น...ตรงนี้ไม่ค่อยมีผลต่อสีสันปลาสักเท่าไหร่ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ตั้งตู้เป็นหลักเสียมากกว่า
สติ๊กเกอร์ที่ใช้ติดตู้ปลานั้น...ปกติแล้วร้านตู้จะใช้ของโกดัก เพราะรีดได้เรียบ และสีดำสนิท รวมทั้งเวลาลอกก็ทิ้งคราบกาวไว้น้อยมาก
สติ๊กเกอร์พวกนี้...ไม่ใช่มีลักษณะเป็นแผ่น ๆ แบบที่เราเห็นในแผนกเครื่องเขียน และจะส่งจากโรงงานมาเป็นม้วน ซึ่งมีหน้ากว้างที่ยี่สิบกว่านิ้ว ถ้าต้องการหน้ากว้างกว่านี้ก็ขยับสี่สิบกว่านิ้วเลย
ดังนั้นร้านตู้เกือบทั้งหมดจึงให้สติ๊กเกอร์หน้ากว้างยี่สิบกว่านิ้วกันทั้งนั้น และเมื่อตู้มีความกว้างหรือความสูง 30 นิ้ว ทำให้มีรอยต่อของสติ๊กเกอร์เกิดขึ้น
สำหรับร้านตู้ที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อยตรงนี้ ก็จะสั่งสติ๊กเกอร์หน้ากว้างมาบริการลูกค้า ดังนั้น..แม้จะสั่งตู้กว้างและลึก 30 นิ้ว ก็จะไม่มีรอยต่อสติ๊กเกอร์ให้เห็นหรือรำคาญตา
ผู้เลี้ยงบางท่าน ลืมสั่งให้ติดสติ๊กเกอร์ที่ก้นต้น ก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการลองฟิวเจอร์บอร์ดที่ก้นตู้(ระหว่างตู้กับโฟม) ซึ่งมีข้อเสียคือ ก้นตู้ไม่ดำสนิทเท่าการติดสติ๊กเกอร์
“Silicone sealant” หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ..กาวที่ใช้ยึดกระจกให้ติดกัน คุณภาพของซิลิโคนก็มีส่วนสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ...ความหนาของซิลิโคนที่กั้นอยู่ในระหว่างกระจก 2 แผ่น สำหรับตู้ปลาขนาดเล็กและขนาดกลาง การยิงซิลิโคนค่อนข้างเป็นเรื่องง่าย คือ..จับกระจกสองแผ่นชนกัน แล้วยิงซิลิโคนเข้าไปรอยต่อของกระจกทั้งสอง วิธีนี้..รวดเร็ว แต่มีซิลิโคนแค่บาง ๆ ระหว่างกระจก 2 แผ่นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม..ก็เป็นวิธีที่ถูกต้อง..ถ้าเป็นตู้ที่มีขนาดกลางหรือขนาดเล็ก
แต่ถ้าเป็นตู้ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะตู้ที่ลึก 24 นิ้วขึ้นไป แรงยึดของซิลิโคนจะสูงขึ้นมาก ถ้ามีชั้นความหนาของเนื้อซิลิโคน ณ ระดับหนึ่ง (3มิลลิเมตร) ซึ่งการที่จะให้มีชั้นเนื้อซิลิโคนหนา ช่างที่ประกอบตู้ปลาต้องมีทักษะและมีวิธีการมากกว่าการประกอบตู้เล็กทั่วไป
ลักษณะของการยิงซิลิโคนและสีสันของซิลิโคนก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...ความสวยงาม ในส่วนตำแหน่งคานล่าง ซึ่งผู้เลี้ยงสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในยามชื่นชมความงามของปลา ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลของความสวยงามหรือความแข็งแรง การยิงซิลิโคนที่คานล่าง...ควรจะยิงเต็มคาน ไม่ใช่แค่ลากเป็นเส้นซิลิโคนเป็นแนวยาวแบบเลื้อยเป็นงู
ประกอบกับการที่เราติดสติ๊กเกอร์ดำ ดังนั้นซิลิโคนสีดำจึงดูเหมาะสมที่สุดในทุกประการ
สิ่งหนึ่งที่ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่มองข้ามก็คือ...ความสูงของตู้ปลา ในการพิจารณาความสูงของตู้ปลาว่า..เราควรใช้ขาที่มีความสูงขนาดไหนนั้น เราควรเริ่มต้นที่ว่า ตู้ใบนี้เราเน้นดูหรือชื่นชมความงามในลักษณะไหน เช่น ยืนดู นั่งดูในระหว่างกินข้าว นั่งดูจากโต๊ะทำงาน นั่งดูจากโซฟาตัวโปรด หรือท้ายที่สุด...นั่งดูที่พื้น
เมื่อเราทราบแน่ชัดในปัจจัยนั้นแล้ว เช่น ยืนดู ระดับผิวน้ำควรจะอยู่ที่ระดับสายตาเรา หรือไม่ก็สูงกว่าสายเราของเราไม่เกิน 15 องศา เพราะจะเป็นจุดที่ทำให้เราชื่นชมความสวยงามได้เต็มที่ และเป็นจุดที่ปลาดูดีที่สุด
ไม่แนะนำให้ผิวน้ำต่ำกว่าระดับสายตาเรานะครับ เพราะในปลา Arowana บางตัวจะเครียดในสภาพแวดล้อมลักษณะนั้น สาเหตุก็เกิดจากสัญชาติญาณระวังภัยของปลานั่นเอง
ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ศัตรูของปลาเกือบทั้งหมดจะอยู่ในระดับเหนือผิวน้ำทั้งนั้น เช่น มนุษย์เรานั้นเอง รวมทั้งนกต่าง ๆ เป็นต้น
จากประสบการณ์จริงที่ผมประสบมา (ไม่ว่าจะเป็นปลาของผู้เขียนเอง หรือปลาของผู้เลี้ยงท่านอื่นที่มาขอคำปรึกษา) ปลา Arowana หลายตัวที่ตื่นกลัว ว่ายลู่ จอด ผู้เลี้ยงก็พยายามปรับสภาพแวดล้อมและเลี้ยงอยู่เป็นปี ๆ ก็ไม่สามารถทำให้ปลาไว้วางใจได้
และท้ายที่สุด...ปลาทั้งหมดก็กลับมาเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้สง่างาม เพียงแต่ย้ายปลา ไปยังตู้ที่มีระดับผิวน้ำสูงกว่าสายตาของเรา
ตรงนี้..แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับปลาทุกตัว แต่เราก็ตอบไม่ได้ว่า..ปลาของเราจะตื่นกลัวหรือไม่ ดังนั้นการวางแผนและจัดการเผื่อไว้ล่วงหน้าเพื่อตัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
และจากประสบการณ์เลี้ยงปลา Arowana ของผู้เขียน รวมทั้งได้พูดคุยกับผู้เลี้ยงที่คลั่งไคล้ปลา Arowana ก็ขอแนะนำว่า อย่าเลี้ยงปลา Arowana ในตู้ใบล่างเลย เพราะทำให้ความงดงามของปลา Arowana หายไปเยอะมาก ในช่วงแรกก็ยังคงสุขใจที่ได้เลี้ยงปลา Arowana ที่รักที่ชื่นชอบหลาย ๆ ตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป....สัจจะธรรมก็จะปรากฏ
ในส่วนของฝา ปัจจุบันฝาไฟที่ใช้กับตู้ปลา Arowana นั้นก็จะมี 2 ชนิด 1) ฝาอะครีลิค 2)ฝาตะแกรง
ฝาอะครีลิก ก็คือฝาตู้ทั่วไปที่เราใช้กับตู้ปลานั่นเอง ด้วยความที่ตู้มีขนาดใหญ่ ฝาจึงมีขนาดใหญ่มากด้วย ดังนั้นเราจึงมักจะแยกฝาเป็นหลายชิ้น เช่นตู้ขนาด 60*30*30 อาจจะเป็นฝาไฟเป็น 2 ชิ้น ซึ่งก็คือ 60*15 จำนวน 2 ชิ้น และถ้าเป็นตู้ที่ใหญ่กว่านั้น เช่น 72*30*30 เราก็อาจจะแบ่งฝาเป็น 3 ชิ้น ชิ้นด้านหลังก็คือ 72*15 ส่วนชิ้นด้านหน้าจะมี 2 ชิ้นคือ 36*15 นั่นเอง
ข้อดีของฝาอะคริลิกก็คือ..ดูเรียบร้อยในส่วนสายไฟทั้งหลาย แต่ข้อเสียก็คือ อากาศถ่ายเทไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้อุณหภูมิน้ำในตู้อาจจะสูงเกินควร ดังนั้นเราจึงนิยมติดพัดลมที่ฝาตู้ด้วย ในส่วนนี้แนะนำให้แจ้งความต้องการกับร้านตู้เลย
สำหรับฝาตะแกรงนั้น...ปกติแล้วมักจะขึ้นโครงด้วยไม้ หรือไม่ก็อลูมิเนียม ถ้าทำด้วยไม้..ก็จะมีราคาถูกกว่ามาก แต่ก็ต้องระวังเรื่องเชื้อชา ดังนั้นฝาตะแกรงที่ขึ้นโครงด้วยอลูมิเนียนจึงเป็นที่นิยมและเหมาะสมกว่า
ข้อดีของฝาตะแกรงก็คือ...ระบายอากาศได้ดี แต่ความสวยงามในแง่ของการเก็บสายไฟก็จะไม่เรียบร้อยเท่าฝาอะครีลิค
ผู้เลี้ยงบางทั้งอาจจะประหยัดงบด้วยการใช้ท่อ pvc (แบบที่ใช้เป็นท่อประปา) ซึ่งตรงนี้ต้องระวังให้มาก เพราะฝาจะมีน้ำหนักเบาเกินไป ในขณะที่ปลา Arowana นั้นเป็นปลาที่กระโดดได้สูง และมีแรงกระโดดสูง ฝาตะแกรงที่ทำด้วยท่อ pvc ไม่สามารถรับรองแรงกระโดดของปลา Arowana ขนาด 1 ฟุตได้แน่นอน ผู้เลี้ยงต้องยึด ล๊อค หรือถ่วงน้ำหนักฝาให้ดี
ท้ายที่สุดก็คงเป็นเรื่องของขาเหล็ก โดยปกติแล้ว..ตู้ขนาดใหญ่ก็ต้องใช้เหล็กกล่องอยู่แล้ว จุดที่ควรใส่ใจคือ ความหนาของเหล็กกล่อง การพ่นสี/ทาสี เป็นต้น การทำสีที่ดีจะช่วยให้ขาเหล็กเป็นสนิมยากขึ้น ณ ระดับหนึ่ง
ในส่วนขาตัวเอส อันนี้ก็มองข้ามไปเลย เพราะไม่เหมาะกับตู้ขนาดใหญ่ในทุกประการ ทั้งคุณภาพของเนื้อเหล็ก และจุดเชื่อมทั้งหลาย
สำหรับผู้เลี้ยงที่อยากได้..ตู้เฟอร์นิเจอร์ แนะนำให้สั่งซื้อจากร้านตู้ปลาเลย เพราะเวลาตู้มีปัญหา จะได้ไม่มีปัญหาโทษกันไปมาว่า..ขาตู้ไม่ได้ระดับ หรือ ตู้ประกอบไม่ดี เป็นต้น รวมทั้งร้านเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป ที่ไม่ได้ทำขาตู้ปลาโดยตรง ก็จะไม่เข้าใจถึงภาระที่ขาตู้จะต้องรับน้ำหนัก
ตู้ขนาดใหญ่มาก ๆ แม้จะเป็นตู้เฟอร์นิเจอร์ก็ตาม แต่โครงภายในตู้ขาตู้ก็ควรจะเป็นเหล็ก แล้วจริงนำงานไม้เฟอร์นิเจอร์มาปิดเพิ่มเติม เพราะการรับน้ำหนักจะดีกว่ามาก โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนขามากจนเกินควร
ในส่วนฝาเฟอร์ฯ ผู้เลี้ยงพึงพิจารณาเรื่องการระบายอากาศให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นจากเกิดการอับชื้นที่ฝาตู้ และทำให้เกิดเชื้อราที่ฝาตู้ ซึ่งมีส่วนทำให้..ปลา Arowana เป็นโรคเชื้อราได้ในที่สุด ในจุดนี้..ร้านตู้ปลาที่มีความชำนาญก็จะออกแบบฝาตู้ได้สวยเรียบรอย และสามารถระบายอากาศได้ดีจนไม่มีการสะสมความชื่น สำหรับพัดลมระบายความร้อน...จะติดเพิ่มก็สามารถจัดการได้ เฉกเช่นเดียวกับฝาตู้อะครีลิก
ฉบับนี้..ก็ว่ากันด้วยเรื่องของตู้กันเต็ม ๆ ในทุกแง่มุมนะครับ ในฉบับหน้า...ผมจะแจกแจงระบบกรองต่าง ๆ ที่นิยมใช้ในตู้ปลา Arowana อย่างละเอียดกันเลยครับ สวัสดีครับ//ปิติ๙๙
ขอขอบพระคุณ คุณปิติ ๙๙ และนิตยสาร อควา ที่เอื้อเฟื้อภาพ และ เรื่องราว
“ทองสุข” ปลา Arowana ทองอินโดอายุเกือบ 10 ปี ลำตัวยาว 2 ฟุต กว้างเกือบ 7 นิ้ว ในตู้ 72*30*30 จะเห็นว่าการที่ตู้มีความลึก 30 นิ้ว แม้ปลาจะมีขนาดใหญ่ และมีปลาร่วมตู้อยู่พอควร แต่ระดับการว่ายของปลาก็แตกต่างกัน ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถชื่นชมท่วงท่าการว่ายอันสง่างามของปลา Arowana โดยปลาอื่นไม่ได้ว่ายรบกวนสายตาแต่ประการใด
“ทองสุข” ในตู้ 60*30*24 – ความงดงามของปลาลดลงไปมาก ปลาเกือบทั้งหมดแทบจะว่ายในระดับน้ำเดียวกัน ว่ายกวนกันไปมา ทำให้ผู้เลี้ยงไม่สามารถชื่นชมความสวยงามในท่วงท่าการว่ายของปลา Arowana ได้เต็มอิ่ม และลีลาท่าว่าย”เรือดำน้ำ” ก็ไม่มีทางให้ได้พบเห็นในตู้ใบนี้
“แดงอ้วน” ปลา Arowana Super Red อายุ 5 ปี กับขนาดลำตัวยาว 26 นิ้ว กว้าง 7-8 นิ้ว ในตู้ 60*30*30 ปลาดูสง่างามมาก
“แดงอ้วน” ในตู้ 72*30*24 – จะเห็นว่าความสง่างามของปลาในตู้ตื้น อย่างไรก็ไม่สง่างามเท่าปลาในตู้ที่มีความลึกมากกว่า
ท่าว่าย”เรือดำน้ำ” -- ต้องมีความลึกของตู้พอควร ผู้เลี้ยงจึงมีโอกาสได้เห็นท่าทางในงดงามลักษณะนี้
ซิลิโคนยิงเต็มคานล่าง
ตู้สำหรับปลา Arowana ควรจะติดสติ๊กเกอร์ดำที่ก้นตู้ และเมื่อใช้ซิลิโคนดำก็จะทำให้ก้นตู้ดูกลมกลืนและเรียบร้อย คานล่างยิงซิลิโคนเต็มคาน และเจียรกระจกคานล่างให้มนเนียนเพื่อลบความคมของกระจกทั้งหมด
กระจกหน้าตู้..เจียรด้วยเครื่อง ตู้จะดูดีมีราคา คู่ควรกับการเป็นตู้ที่ใช้เลี้ยงปลาอันเป็นที่รักของเรา
งานตู้ทั่วไป...ยิงซิลิโคนที่คานล่างแบบง่าย ๆ (แม้จะใช้งานได้ก็จริง แต่ไม่สวยงาม และไม่แข็งแรงในกรณีที่เป็นตู้ขนาดใหญ่) ขอบกระจกต่าง ๆ ก็แค่..เจียรพอผ่าน ถ้าได้ลองลูบดู..ก็จะพบว่า กระจกยังมีความคมอยู่
ขาเหล็กพร้อมสีพ่นพิเศษ ช่วยทำให้ขาตู้เกิดสนิมยากขึ้นและดูสวยงามขึ้น เราสามารถสั่งพิเศษเพิ่มเติมได้ พร้อมงานกระจกตกแต่งเป็นตู้เฟอร์นิเจอร์กลาย ๆ (ช่วยลดปัญหาเรื่องเสียงในกรองล่างได้ด้วย)
ขาตู้แบบงานเฟอร์นิเจอร์ สำหรับผู้ที่ต้องการตกแต่งให้ตู้ปลาเข้ากับเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน สามารถเลือกสีของไม้ให้ใกล้เคียงกับเฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่ในบ้าน