เลี้ยงปลาอย่างไร ให้ (ตัวเอง/ปลา) มีความสุข

เนื่องจากผมได้รับเกียรติจากทางร้านนิศาชล ให้เขียนบทความสักเรื่องเพื่อลงในเวบนิศาชลที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ความที่ผมเองไม่ใช่นักเขียนที่เก่งมากนัก เพราะตอนวัยรุ่นเขียนจดหมายจีบสาวแล้ว สาวเจ้าไม่เคยตอบจดหมายเสียที มารู้ตอนหลังว่าเพราะอ่านแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง สาวเลยไม่ตอบ จึงคิดอยู่ในใจว่าจะดีหรือไม่ กลัวว่าจะทำให้เวปพี่จิรศักดิ์ต้องติดเรท เอ๊ยไม่ใช่ กลัวว่าจะทำให้ทางร้านมียอด สุดท้ายได้เรียนพี่จิรศักดิ์ว่า หากยอด ลดลงเมื่อใด สงสัยได้ว่ามาจากบทความนี้เอง ให้ถอดบทความนี้ออกยอดจะเพิ่มขึ้นทันทีครับ

ผมเลี้ยงปลามาตั้งแต่เด็กครับ ไม่ว่าจะเป็นปลาเศรษฐกิจจำพวกปลาไน ปลานิล ปลายี่สก ปลาสวยงามก็เลี้ยงไม่ว่าสจะเป็น ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาเงิน (อันนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว)ปลาทอง ทั่วไปครับ เลี้ยงไปก็ตายบ้างรอดบ้างแล้วแต่โชคของปลาตัวนั้น โตขึ้นมาหน่อยก็ตกปลาเป็นจนสามารถตะเวนแข่งขันตกปลาตามบ่อต่างๆ ในต่างจังหวัด หรือกทม หมายธรรมชาติก็ไปกับเขา ทางทะเลก็มีบ้าง เรียกได้ว่ามีกิจกรรมเกี่ยวกับปลามาตลอดครับ หลายอย่างได้ทำในส่วนที่ตัวเองตั้งใจไว้สำเร็จ ก็ด้วยการสนับสนุนจากเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ นี่ล่ะครับ เหลืออยู่ 2 อย่างที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำก็คือ ร้านขายปลา กับ ร้านขายตู้ปลาแข่งกับนิศาชลนี่ล่ะครับ

ปลามังกรสายพันธ์เอเชีย หรือ ปลาอโรวาน่าเรียกได้ว่าเป็นราชาแห่งปลาสวยงาม ที่ได้รับความนิยมและยอมรับจากนักเลี้ยงปลาสวยงามทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำที่มีท่วงท่าที่สง่างามมีพลังดุจมังกรร่อน เกล็ดที่มีสีดั่งทองคำบริสุทธิ์ในสายพันธ์ปลาสีทอง แดงดั่งเลือดนกในสายพันธ์ปลาแดง และหากจะกล่าวว่าเหมือนดั่งทองคำที่ลอยอยู่ในน้ำก็ไม่ผิดเพี้ยนอีกทั้งพี่น้องเชื้อสายจีนที่มีความเชื่อในปลาชนิดนี้ หากบ้าน/ที่ทำงานใด ได้เลี้ยงไว้ในบ้าน ณ.บริเวณที่ถูกต้อง มีการเลี้ยงดูที่เหมาะสมแล้ว จะสามารถดลบันดาลให้ผู้เลี้ยงและครอบครัวมีความสุขความเจริญในหน้าที่การงานยิ่งๆขึ้น กลับกันหากเลี้ยงดูไม่ถูกวิธีไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควรแล้วก็อาจทำให้พาลพบกับความยุ่งยาก หรือความวุ่นวายในการดำเนินชีวิตได้ปลามังกรจึงนับได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นมงคลต่อผู้เลี้ยงทั่วไปครับ ดังนั้นการที่เราผู้เลี้ยงปลาสวยงามจะได้เลี้ยงปลามังกร หรือปลาสวยงามชนิดอื่นใดแล้ว ควรที่จะศึกษาหาความรู้ในการเลี้ยงปลาชนิดนั้นๆอย่างถ่องแท้ เข้าใจถึงธรรมชาติของปลา จะทำให้เรามีความสุขในการเลี้ยงปลาครับ

ปลามังกร (Arowana)เป็นปลาที่มีความแข็งแรงพอสมควรครับ ไม่ค่อยจะเจ็บป่วยง่ายเหมือนกับปลาชนิดอื่นๆ หากเลี้ยงอย่างถูกวิธี น้ำที่เหมาะสมอยู่ช่วง 6.5-7.5 ครับ อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 27-29 องศาเซลเซียส สามารถทนต่อแอมโมเนีย ไนไตร์ท และ ไนเตรท ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยปลาชนิดนี้เป็นปลากินเนื้อล่าเหยื่อในธรรมชาติอาหารหลักของเขาหนีไม่พ้นจำพวกสัตว์น้ำ แมลง ที่มีขนาดเล็ก โดยเราสามารถปรับปลาบางตัวให้ปลากินอาหารที่ตายแล้วได้ แต่ปลาบางตัวนั้นไม่ยอมรับอาหารที่ตายแล้ว จะกินเฉพาะที่ยังมีชีวิตเท่านั้น ส่วนอาหารเม็ดนั้นมักไม่ค่อยกิน หรือกินได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่ได้ผลเท่าใดนัก เพราะหากตัดสินใจเลี้ยงปลาชนิดนี้ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของเขาครับ

ปลาสวยงามที่เราเลี้ยงไว้นั้น มันสื่อสารกับเราไม่ได้ครับ ไม่ว่าเราจะใส่อะไรลงไป ปลาจะได้ผลกระทบอย่างแน่นอน เราเองก็ไม่รู้ว่าใส่ไปแล้วมันชอบหรือไม่ ดีหรือไม่ ปลาบอกเราไม่ได้ ครับเพราะฉะนั้นเมื่อเราต้องใส่อะไรลงไปไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยา อาหารเสริมวิตามินต่างๆ นั้น ต้องแน่ใจว่าสิ่งนั้นไม่ทำอันตรายกับตัวปลา และให้ประโยชน์กับตัวปลาเท่านั้นครับ ไม่แน่ใจอย่าใส่อย่าเดาครับเพราะนั่นหมายถึงชีวิตปลาทีเดียว หลายคนเสียปลาไปเพราะเรื่องนี้ ก่อนใส่ควรปรึกษาผู้รู้เรื่องอย่างดีนะครับ จะได้ไม่เสียใจภายหลังส่วนตัวผมแล้วการเลี้ยงปลาที่ประสบความสำเร็จได้ต้องมี 3 อย่างครับ ผมมักที่จะให้ความสำคัญกับตัวแปร 3 ตัวคือ

1.น้ำ ต้องเป็นน้ำที่ได้คุณภาพเบื้องต้นที่ดีครับ ที่ดีหมายความว่า ควรเป็นน้ำที่ผ่านการกรอง,มีการพักน้ำการบำบัดคลอรีนแล้ว เป็นน้ำที่เหมาะกับปลาชนิดนั้นๆ ถ้าน้ำไม่ดี ส่วนที่เหลือก็ไม่สามารถทำให้ระบบทำงานหรือการเลี้ยงดีได้ครับ และแย่ที่สุดก็อาจทำให้เราเสียปลาไปได้ในระยะเวลารวดเร็วครับ อย่าเสี่ยงเพราะคิดว่าน้ำมีคลอรีนนิดหน่อยคงไม่เป็นไร และหากไม่จำเป็นแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาปรับสภาพน้ำ หรือน้ำยาลดคลอรีนนะครับ เพราะบางกรณีไม่มีความจำเป็น และ เสียเงินเปล่าประโยชน์ครับ น้ำนับเป็นส่วนที่ผมให้ความสำคัญที่สุดในระบบครับ

2.อุณหภูมิ ปลาที่แข็งแรงกินดีนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งจะอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมและคงที่ อุณหภูมิที่เหมาะสมกับปลาสายพันธ์นั้นๆ เราต้องศึกษาครับว่าปลาชอบน้ำเย็น น้ำอุ่น อย่างใด คำว่าอุณหภูมิคงที่หมายถึงเราสามารถควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากในแต่ละวัน เช่น เช้า 25 องศาเซนเซียส บ่าย 26 เย็น 27 อย่างนี้พอรับได้ครับ แต่ถ้าเช้า 25 บ่าย 30 เย็นกลับมา 25 อีก อย่างนี้ปลาเครียด อาจได้ของแถมเป็นอาการป่วยอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าหากระบบเล็ก ตู้ปลาเล็กแล้ว โอกาสที่อุณหภูมิจะแก่วงนั้นยิ่งมีมาก ตรงนี้จำเป็นครับที่เราต้องมีระบบช่วย มีฮีตเตอร์ควบคุม

3.ระบบกรอง นึกภาพว่าเพื่อนๆอยู่ในห้องแคบต้องกินและขับถ่ายออกมา หากไม่มีระบบกำจัดของเสีย ไม่มีระบบย่อยของเสียแล้ว ไม่นานสิ่งที่ขับถ่ายจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มห้อง สุดท้ายก็ทำให้ไม่สบาย เจ็บป่วยได้ ย้อนมาดูตู้ปลา หากไม่มีระบบกรองที่ดี วัสดุกรองที่มีประสิทธิภาพ ระบบที่เพียงพอต่อการบำบัดน้ำในตู้อย่างเหมาะสมกับจำนวนและ ชนิดของปลาแล้ว ก็อาจทำให้ปลาของท่านไม่สดชื่น มีอาการเครียดและป่วยบ่อยดังนั้นผมมีความเชื่อว่าถ้าหากเรามีวินัยในการเลี้ยงดู การดูแลเรื่องน้ำ อุณหภูมิ ระบบกรอง ที่ดีแล้วปลาที่เราเลี้ยงก็จะมีความสุข ไม่เครียด และป่วยน้อยลงครับ สำหรับบทความข้างต้นนั้นเป็นประสบการณ์การเลี้ยงของผมเองครับ อาศัยว่าเลี้ยงก่อนรู้ก่อน เลี้ยงทีหลังรู้ทีหลัง แน่นอนว่าย่อมมีคนเลี้ยงก่อนผมรู้มากกว่าผมครับ ดังนั้นขอให้คิดว่าเป็นคำแนะนำจากผู้เลี้ยงปลาสวยงามด้วยกันนะครับขอให้มีความสุขในการเลี้ยงปลาครับ

ขอให้มีความสุขในการเลี้ยงปลาครับ

E20ngx

Email: e20ngx@gmail.com

โชกุน ปลาแดง super red A ในตู้ 96*30*30 กรองล่าง

ถุงทอง ปลาทองอินโดตัวโปรด ในตู้ 72*30*30 กรองล่าง

มุมพักผ่อนของผู้เขียน

ปลาเขียวคู่ ผู้-เมีย ที่เลี้ยงไว้ในอ่าง

ตู้ปลารวมพี่ชายท่านหนึ่ง ที่ประทับใจที่สุดขนาด 120*36*30 กรองข้าง และ กรองนอก 2 ตัว